โรงเรียนมูลนิธิวัดศรีอุบลรัตนราม เป็นโรงเรียนแห่งแรกในภูมิภาคนี้ ที่เกิดขึ้นโดยกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินไปทรงยกช่อฟ้าอุโบสถวัดศรีอุบลรัตนาราม
อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสกับอธิบดีกรมการศาสนา(พันเอกปิ่น มุทุกันต์) ณ ท่าอากาศยานอุบล ฯ ก่อนเสด็จพระราชดำเนินขึ้นเครื่องบินว่า
"ถ้าได้มีโรงเรียนสำหรับเด็ก ๆ ขึ้นไว้ ณ วัดศรีอุบลรัตนาราม โดยเป็นโรงเรียนของวัด และให้พระสงฆ์ได้บำเพ็ญประโยชน์ในทางอบรมสั่งสอนกุลบุตรกุลธิดาก็จะเป็นการดี"
เมื่อได้รับพระราชดำรัสใส่เกล้าฯ แล้ว อธิบดีกรมการศาสนา ได้อัญเชิญพระราชดำรัสดังกล่าวไปยัง ผู้ว่าราชการจังหวัด (นายสอาด เหมศรีชาติ - รองผู้ว่าราชการจังหวัด - รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัด -) (ต่อมา ผู้ว่าราชการจังหวัด คือ พลตำรวจตรีวิเชียร สีมันตระ) เจ้าอาวาสวัดศรีอุบลรัตนาราม(พระครูวิจิตรธรรมภาณี) พระเถระผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง อันมีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์เป็นประธาน รวมทั้งคุณหญิงตุ่น โกศัลวิตร คหปตานีผู้อุปถัมภ์วัด เพื่อร่วมกันดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชประสงค์
เมื่อได้ทราบพระราชประสงค์แล้ว ต่างก็มีความยินดีและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น คุณหญิงตุ่น โกศัลวิตรได้แจ้งกับอธิบดีกรมศาสนา ว่า ตนพร้อมที่จะดำเนินการจัดสร้างโรงเรียนมูลนิธิวัดศรีอุบลรัตนาราม ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ และจะจัดตั้งมูลนิธิบำรุงโรงเรียนนั้นไว้ให้ถาวรและได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาต ถวายมูลนิธิไว้ในพระอุปถัมภ์ ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ซึ่งก็ได้รับพระมหากรุณา ทรงรับไว้ในพระอุปถัมภ์การก่อสร้างได้ดำเนินขึ้นเมื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จแทนพระองค์ในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารโรงเรียน ในวันพฤหัสบดีที่ ๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๑๒
กรมการศาสนาได้จัดทำแผนผังวัดขึ้นใหม่ โดยแบ่งเขตพุทธาวาส เขตสังฆาวาส และเขตสาธารณสงเคราะห์ให้เป็นที่ตั้งโรงเรียน แยกกันเป็นสักส่วน ซึ่งวัดศรีอุบลรัตนารามได้อนุญาตให้ใช้พื้นที่ของวัด ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เนื้อที่ ๔ ไร่ เป็นบริเวณที่ก่อสร้างโรงเรียน อาคารประกอบ และสนามของโรงเรียน
แผนที่สังเขปของวัดศรีอุบลรัตนาราม และส่วนที่ใช้ในการก่อสร้างโรงเรียน
บริเวณก่อสร้าง
โรงเรียน บริเวณวัดศรีอุบลรัตนาราม
พื้นที่เอกชน
ในการก่อสร้างคุณหญิงตุ่น โกศัลวิตร ได้บริจาคเงินค่าก่อสร้างเป็นส่วนใหญ่ ทั้งเป็นผู้ควบคุมดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ สิ้นค้าก่อสร้างทั้งสิ้น ๑,๘๕๐,๐๐๐ บาท เป็นอาคารเรียนทรงไทย ๓ ชั้น มี ๒๔ ห้องเรียน ตัวอาคารเรียน ยาว ๗๗ เมตร กว้าง ๙.๕๐ เมตร แต่ละห้องมีขนาด ๙ x ๗ เมตร โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานทุนในการก่อสร้างและดำเนินการ เริ่มแรก ๑๗๒,๐๐๐ บาท และทุนส่วนตัวของคุณหญิงตุ่น โกศัลวิตร ๑,๖๗๘,๐๐๐ บาท
เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จโรงเรียนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดป้ายอาคารเรียนโรงเรียนมูลนิธิวัดศรีอุบลรัตนราม เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๔ เวลา ๑๖.๐๐ น. และมูลนิธิโรงเรียนวัดศรีอุบลรัตนารามได้มอบอาคารเรียนให้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งเป็นโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดกรมวิสามัญศึกษา และ จากประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ ได้ใช้ชื่อโรงเรียนในครั้งนั้นว่า "โรงเรียนศรีอุบลรัตนาราม" และให้โรงเรียนนี้ สังกัดแผนกมัธยมศึกษา กองการศึกษาพิเศษ กรมสามัญศึกษา ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๑๔ เป็นต้นไปประกาศ ณ วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๑๔ โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุกิจ นิมมานเหมินท์
ต่อมา มูลนิธิโรงเรียนวัดศรีอุบลรัตนารามมีความเห็นว่า โรงเรียนนี้สร้างขึ้นเพื่อสนองพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้มูลนิธิโรงเรียนวัดศรีอุบลรัตนารามอยู่ในพระอุปถัมภ์ ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา โรงเรียนนี้ควรจะใช้ชื่อว่า "โรงเรียนมูลนิธิวัดศรีอุบลรัตนราม (ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี)" จึงได้ทำหนังสือถึงกระทรวงศึกษาธิการผ่านไปยังสำนักราชเลขาธิการ เพื่อนำความกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาต ให้โรงเรียนวัดศรีอุบลรัตนาราม อยู่ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา และขนานนามโรงเรียนตามที่เสนอขอสำนักราชเลขาธิการได้แจ้งเป็นหนังสือให้ทราบว่า ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานชื่อโรงเรียนวัดศรีอุบลว่า
"โรงเรียนมูลนิธิวัดศรีอุบลรัตนราม (ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี)" ลงวันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๔